นครราชสีมา เป็นเมืองโบราณในราชอาณาจักรไทยเมืองหนึ่ง เป็นเมืองใหญ่ สมัยก่อนมีฐานะเป็นเมืองเจ้าพระยามหานคร เทียบเท่า เมืองนครศรีธรรมราช ในภาคใต้
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามี ชุมชนโบราณซึ่งเป็นร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ต่อเนื่องมาถึงยุคโลหะ กระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์ ก็มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองเสมา ตั้งอยู่บริเวณอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เป็นเมืองใหญ่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของ รัฐศรีจนาศะต่อมามีการสร้างเมืองโคราฆปุระอยู่ใกล้กัน และในสมัยขอมพระนคร มี เมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญในบริเวณนี้
ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเห็นว่าเป็นหัวเมืองใหญ่และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านของอยุธยา ติดกับชายแดนลาว (ลาบูแบร์ชาว ฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนรายงานว่า เมืองนครราชสีมา เป็นเมืองชายแดนของอยุธยา ติดพรมแดนลาว เข้าใจว่าเลยลำสะแทด (ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล)เหนือเมืองพิมายเป็นเขตแดนลาว เพราะมีบันทึกไว้ในนิราศหนองคาย สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภาษาที่เปลี่ยนไปด้วย)จึงโปรดให้ย้ายเมืองเสมา มาสร้างเมืองใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน โดยมีนายช่างชาวฝรั่งเศส เป็นคนออกแบบ ขนาดกว้าง 1,000 เมตร ความยาว 1,700 เมตร มีกำแพงเมืองขนาดใหญ่ มีป้อมค่ายหอรบ และพระราชทานนามว่า เมืองนครราชสีมา
อย่างไรก็ตามมีผู้เสนอว่า นครราชสีมา นั้นเป็นคำไทยเป็นคำใหม่ แยกเป็นคำได้คือ นคร+ราช+สีมา แปลได้ตรงตัวว่า เมืองใหญ่(นคร)อันเป็นขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักร(ราช+สีมา) ส่วนคำว่าโคราช (สำเนียงถิ่น: โค-หราด , ไทยกลาง: โค-ราด) นั้น น่าจะเพี้ยนมาจาก 'ครราช (อ่านตามสำเนียงว่า คอน-หราด ซึ่งเป็นคำเรียกนครราชสีมา แบบย่อๆของชาวบ้าน) มากกว่าที่จะเพี้ยนมาจาก โคราฆปุระ